ภาคีอนุรักษ์ระดับนานาชาติจับมือภาครัฐและเอกชนเปิดตัวโครงการ StAR ประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวใกล้สูญพันธุ์
จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย (16 พฤษภาคม 2568) – โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ โครงการ StAR ประเทศไทย (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่จังหวัดภูเก็ต โดยเป็นภาคีความร่วมมือระดับนานาชาติจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐของไทย ภาคเอกชน และองค์กรอนุรักษ์ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมประมง (ปม.) อควาเรีย ภูเก็ต โรมแรมเกาะไม้ท่อน องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) องค์กรโอเชี่ยน บลู ทรี (Ocean Blue Tree) นักวิจัยด้านฉลามและกระเบน กลุ่ม Thai Sharks and Rays โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรปลาฉลามเสือดาวอินโด-แปซิฟิก (Stegostoma tigrinum) สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ของไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยดั้งเดิมของพวกมัน

ข้อมูลที่ได้จากการบอกเล่าของชุมชุนนักดำน้ำในไทยพบว่า ทะเลไทยเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของฉลามเสือดาว โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นักดำน้ำจะเจอฉลามชนิดนี้เป็นประจำในฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยลง โดยภัยคุกคามหลักของฉลามเสือดาวได้แก่ การถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) และการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ปัจจุบันฉลามเสือดาวมีสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์” ทั้งในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และการประเมินสถานะของชนิดพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามภายในประเทศ หรือ Thailand Red Data โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ StAR ประเทศไทย เป็นโครงการระดับนานาชาติริเริ่มโดยองค์กร ReShark ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติที่ประกอบด้วยองค์กรอนุรักษ์กว่า 100 แห่ง รวมถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ หน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูประชากรฉลามและกระเบนที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก โดยเริ่มต้นขึ้นที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2565 การเปิดตัวโครงการในประเทศไทยเป็นแห่งที่สองถือเป็นก้าวสำคัญ และสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยยกระดับความสำคัญของฉลามเสือดาวให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถือเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของฉลามเสือดาว โดยมีพื้นที่หลักสองแห่ง ได้แก่ หมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ได้รับการรับรองให้เป็น “พื้นที่สำคัญของฉลามและกระเบน” (Important Shark and Ray Areas – ISRAs) จากการพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามขององค์การ IUCN


โครงการในประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว โดยการสานต่อโครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” ซึ่งเป็นโครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เชิญชวนให้นักดำน้ำร่วมส่งภาพถ่ายและวิดีโอการพบเห็นฉลามเสือดาวที่ถ่ายได้ในน่านน้ำไทย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินจำนวน พฤติกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย โครงการนี้ริเริ่มครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่หมู่เกาะพีพี โดยความร่วมมือระหว่าง ดร.คริสติน ดัดเจียน จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จนถึงปัจจุบัน โครงการได้รวบรวมภาพถ่ายมากกว่า 1,332 ภาพ และสามารถระบุฉลามเสือดาวได้ 278 ตัว ระหว่างพ.ศ. 2547–2568 ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรและแหล่งอาศัยของพวกมัน
“เนื่องจากประชากรของฉลามและกระเบนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากพวกมันมีการเจริญเติบโตช้า โตเต็มวัยช้า และมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ การเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (rewilding) จึงเป็นความหวังสำคัญในการรักษาประชากรไว้และช่วยส่งเสริมอัตราการฟื้นตัวของประชากร นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฉลามและกระเบน ตั้งแต่เรื่องการทำประมงเกินขนาดไปจนถึงการทำลายถิ่นอาศัย” เมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว StAR Project Thailand องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
ขณะนี้ ทีมงานโครงการ StAR ได้เคลื่อนย้ายลูกฉลามเสือดาวจำนวน 9 ตัว อายุประมาณ 1 ปี 2 เดือน ขนาดประมาณ 80-110 เซนติเมตร ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ ‘อควาเรีย ภูเก็ต’ จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต ไปยังคอกทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ที่โรงแรมเกาะไม้ท่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ลูกฉลามปรับตัวก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต

นอกจากนี้ โครงการอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถในการดำรงอยู่ของประชากร (Population Viability Analysis) เพื่อประเมินความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของฉลามเสือดาวในประเทศไทย และคาดการณ์แนวโน้มการเพิ่มหรือลดลงของประชากรในอนาคต ผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการกำหนดพื้นที่สำหรับปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จำนวนฉลามเสือดาวที่เหมาะสมต่อการปล่อย รวมถึงการกำหนดมาตรการติดตามหลังการปล่อยเพื่อศึกษาอัตราการรอด
“ฉลามเสือดาว มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ทำหน้าที่รักษาสมดุลของสิ่งมีชีวิตในทะเล อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวดำน้ำจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมายังประเทศไทย ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ประชากรฉลามเสือดาว ตลอดจนผลักดันให้ฉลามเสือดาวได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง กรม ทช. ร่วมกับองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามอย่างยิ่งในการนำลูกปลาฉลามเสือดาวที่ได้จากการเพาะฟักมาเลี้ยงอนุบาล โดยนำมาฝึกเลี้ยง และฝึกให้กินอาหารเลียนแบบธรรมชาติในคอกเลี้ยง (sea pen) เพื่อให้ฉลามเสือดาวได้รับการปรับตัวก่อนที่จะปล่อยกลับคืนสู่ทะเล กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่วันนี้ได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอนุรักษ์ และภาคเอกชน ในการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มจำนวนประชากรฉลามเสือดาว ให้คงอยู่ในท้องทะเลไทยสืบไป” นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
โครงการ StAR ให้ความสำคัญกับขั้นตอนก่อนการปล่อยลูกฉลามคืนสู่ธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetics) การใช้ไข่ที่มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำพันธมิตรทั่วโลก และทำการศึกษาอย่างเข้มข้น รวมถึงการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์จาก อควาเรีย ภูเก็ต เพื่อยืนยันว่าลูกฉลามเหล่านี้เป็นกลุ่มพันธุกรรมเดียวกันกับที่พบในน่านน้ำไทย ลูกฉลามเสือดาว 9 ตัวแรกของโครงการ StAR ประเทศไทย มีที่มาจากความสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ฉลามเสือดาวของอควาเรีย ภูเก็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์ของบริษัท Aquawalk Group ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูระบบนิเวศที่กำลังถูกคุกคาม และสนับสนุนการวิจัยที่สำคัญด้านความยั่งยืนทางทะเล

“อควาเรีย ภูเก็ต ภูมิใจที่เราเป็นสถานที่แรกในประเทศไทยที่สามารถเพาะพันธุ์ฉลามเสือดาวได้สำเร็จ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของบุคลากรและความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา” คุณดารีล ฟุง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร อควาเรีย ภูเก็ต กล่าว
อควาเรีย ภูเก็ต มุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการให้ความรู้ ส่งเสริมการอนุรักษ์ และความยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญภาคสนาม และหน่วยงานภาครัฐ “มหาสมุทรและระบบนิเวศทางทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโลกและมนุษยชาติ” คุณดารีล กล่าวเสริม “ผมหวังว่าเราจะสามารถส่งต่อความงดงามและความน่ามหัศจรรย์ของมหาสมุทรให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปอีกหลายชั่วอายุคน”
คอกทะเลที่โรงแรมเกาะไม้ท่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะห่างจากชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 9 กิโลเมตร จะเป็นบ้านชั่วคราวของลูกฉลามทั้ง 9 ตัวในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลฉลามดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างที่พวกมันปรับตัวให้คุ้นเคยกับกระแสน้ำ คลื่น และระดับน้ำทะเลตามธรรมชาติ โดยจะมีการกระตุ้นพฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติ โดยการโปรยและซ่อนอาหารไว้ภายในคอกทะเล ตลอดจนเปิดโอกาสให้ลูกฉลามได้ค้นหาอาหารธรรมชาติประเภทอื่น ๆ ภายในพื้นที่ดังกล่าวด้วยตนเอง


“โรงแรมเกาะไม้ท่อน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีภาคเอกชนสนับสนุนโครงการนี้ ในฐานะของการเป็นบ้านชั่วคราวให้กับลูกฉลามเสือดาวจำนวน 9 ตัว นับเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศใต้ทะเล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงแรมเกาะไม้ท่อน ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ และร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการปลูกปะการังรอบเกาะไม้ท่อน ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ ภายใต้เป้าหมายสูงสุดในการรักษาความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศใต้ทะเล ตลอดจนฟื้นฟูและสร้างความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย เพื่อส่งต่อความงดงามนี้สู่คนรุ่นต่อไป” นายเฉลิมพงษ์ ปทุมโชติสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ฮันนิมูน ไพรเวท ไอซ์แลนด์ (ภูเก็ต) จำกัด (โรงแรมเกาะไม้ท่อน) กล่าว
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรไวล์ดเอด และโอเชี่ยน บลู ทรี ในฐานะองค์กรที่ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว StAR ในประเทศไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในด้านเทคนิคการเก็บข้อมูลฉลามและกระเบนให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐหลักทั้งสามกรม ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานพันธมิตรโครงการ StAR ในการผลักดันการอนุรักษ์ฉลามในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้านอกเหนือจากความพยายามในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ อย่างฉลามเสือดาว


นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง จะทำงานร่วมกับภาคีในโครงการในส่วนของการระบุพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปล่อยคืนธรรมชาติ การคุ้มครองและติดตามผลหลังการปล่อย และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าคุ้มครอง
“โครงการศึกษาวิจัยฉลามครีบดำที่อ่าวมาหยา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ กับนักวิจัยจากกลุ่ม Thai Sharks and Rays แสดงให้เห็นแล้วว่า การสนับสนุนงานวิจัยร่วมกับการมีมาตรการจัดการการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมีส่วนช่วยให้ประชากรฉลามกลับมายังถิ่นอาศัยเดิม ผมจึงเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ฉลามได้ และกรมอุทยานฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในโครงการนี้” นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว
ขณะที่กรมประมงจะช่วยอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการขนส่งไข่ของฉลามเสือดาวจากภาคีอื่น ๆ ของโครงการทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
“กรมประมง ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์และการปล่อยฉลามคืนสู่ธรรมชาติ เรายินดีให้การสนับสนุนโครงการ StAR เพื่อฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวกลับคืนสู่ทะเลไทยที่มีแนวปฏิบัติอิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น” นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าว
โครงการ StAR ประเทศไทย จะดำเนินเข้าสู่ระยะที่สองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยจะมีการติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งให้กับลูกฉลามก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ขั้นตอนนี้จะช่วยให้โครงการสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายของฉลามเสือดาว และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองและติดตามอัตราการรอดหลังการปล่อยที่มีประสิทธิภาพ







